ทำไมต้องติดฉนวนกันความร้อน? หลายท่านที่จะสร้างบ้านคงมีคำถามนี้กันบ้าง
โดยทั่วไปแล้วบ้านเราจะได้รับความร้อนจากรังสีของแสงอาทิตย์โดยตรงเนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน ใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้ในบ้านร้อนอบอ้าว แต่ถ้าเราใช้วัสดุกันความร้อน ก็จะช่วยทำให้ประหยัดพลังงานได้ ปัจจุบันเกือบบ้านใช้ฉนวนกันความร้อน เพื่อควบคุมอุณหภูมิในบ้านไม่ให้ร้อนเกินไป ซึ่งการเลือกใช้ฉนวนควรพิจารณาจากความสามารถในการป้องกันความร้อน ความหนา และน้ำหนัก การกันน้ำและความชื้น และความสามารถต่อแรงอัดและความทนทาน ซึ่งมีฉนวนกันความร้อนให้เลือกหลายประเภท เช่น
ฉนวนใยแก้วหรือไฟเบอร์กลาส ทั่วไปนิยมใช้ฉนวนประเภทนี้ มีลักษณะเป็นเส้นใยสีเหลืองทำเป็นแผ่นหรือเป็นม้วน นอกจากจะกันความร้อนได้ ยังกันเสียงได้อีกด้วย แต่ก็มีข้อเสียคือไม่ทนต่อความชื้น หากเส้นใยถูกความชื้นหรือหยดน้ำ ก็จะยุบตัวแบนติดกัน ทำให้ไม่สามารถป้องกันความร้อนได้ และหากสัมผัสเส้นใยอาจเกิดอาการคันและระคายเคืองได้
ฉนวนประเภทเซลลูโลส เป็นฉนวนที่ทำมาจากเยื่อไม้หรือเยื่อกระดาษ แต่มีการใส่สารหน่วงไฟ ส่วนใหญ่มักเป็นชนิดพ่นในช่องว่างหลังคาหรือฝ้าเพดาน การกันความร้อนดีพอๆ กับฉนวนใยแก้ว แต่การพ่นเข้าไปในหลังคาทำได้ยาก
ฉนวนอลูมิเนียมฟอยล์ คือ ฉนวนสะท้อนความร้อนประเภทที่มีผิวมันวาว สามารถป้องกันความร้อนได้โดยการสะท้อนรังสีความร้อนออกไปก่อนที่ความร้อนจะ เข้ามาสะสมในเนื้อวัสดุ อีกทั้งลักษณะของฉนวนที่เป็นแผ่นบางทำให้ฉนวนไม่เกิดการสะสมความร้อน แต่ถ้าหากผิวฉนวนมีฝุ่นเกาะหมดความมันวาว ฉนวนจะไม่สามารถป้องกันความร้อนได้ และคุณสมบัติของฉนวนประเภทอลูมินั่มฟอยล์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ฉนวนสามารถแผ่รังสีความร้อนออกมาน้อย ซึ่งหากติดตั้งฉนวนใต้หลังคา ก็จะทำให้ความร้อนถ่ายเทลงมาในบ้านน้อยด้วย
ฉนวนประเภทโฟม มีทั้งชนิดที่เป็นแผ่นเช่น โพลีเอทิลีน หรือชนิดที่ใช้ฉีดพ่น เช่นโฟมโพลียูรีเธน ซึ่งเป็นฉนวนที่สามารถป้องกันความร้อนได้ดีเหมือนฉนวนใยแก้ว แต่ฉนวนประเภทโฟมจะมีข้อดีกว่าตรงที่โฟมสามารถป้องกันน้ำและกันความชื้นได้ แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้างคือ ฉนวนประเภทโฟมจะไม่ทนต่อรังสียูวีของดวงอาทิตย์ ดังนั้น หากนำไปใช้ต้องไม่ให้ถูกแสงแดด
หากจะเลือกใช้ฉนวนจึงควรพิจารณาเลือกใช้ตามลักษณะการใช้งาน เพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับ ที่สำคัญช่วยประหยัดประพลังงาน ไม่เปลืองค่าไฟจากการพัดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ